หลักการและเหตุผล

โครงการมหาวิทยาลัยเด็กจัดขึ้นในปี พ.ศ. 2547 โดย ศาสตราจารย์ ดร. Katharina Kohse-Hinghaus ห้องปฏิบัติการทอยโทแลบ มหาวิทยาลัยบีเลเฟลด์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาตอนต้นได้ร่วมทำกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่หลากหลาย โดยมีผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย และพี่เลี้ยงนักศึกษาระดับปริญญาตรี โท และเอก คอยดูแลให้คำแนะนำในการทำกิจกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การดำเนินงานที่ผ่านมา โครงการประสบผลสำเร็จอย่างมากในการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนได้รับแรงบันดาลใจ และมีทัศนคติที่ดีในการทำการทดลองที่สนุก เกิดการพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการได้รับการพัฒนาทักษะการสังเกต รู้จักตั้งคำถามและค้นหาคำตอบด้วยตนเองเพิ่มขึ้น และต่อมาได้มีการขยายผลไปยังประเทศต่างๆ อาทิ สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ เป็นต้น

เมื่อครั้งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมชมโครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ณ Shanghai Institutes for Biological Sciences เมืองเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ในเดือนกรกฏาคม พ.ศ. 2553 โดยโครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่ได้รับผลสำเร็จอย่างมากเช่นเดียวกัน สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มหาวิทยาลัยเครือข่าย และองค์กรความร่วมมือแลกเปลี่ยนทางวิชาการแห่งสหพันธรัฐเยอรมนี (DAAD) จัดทำโครงการนำร่องมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทยขึ้น ในปี พ.ศ. 2554 เพื่อวางรากฐานที่ดีให้นักเรียนไทยได้ฝึกฝนกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ผ่านกิจกรรมลงมือทดลองที่ท้าทายและน่าสนใจ โดยมีผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำ ตลอดจนเป็นการเตรียมความพร้อมให้นักเรียนเหล่านี้เติบโตไปเป็นนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร หรือบุคลากรที่มีจิตวิทยาศาสตร์ มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยให้เจริญก้าวหน้าต่อไป

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อนำร่องการพัฒนาหลักสูตรและกิจกรรมเสริมการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ โดยใช้แนวทาง Hands-on (การลงมือทำด้วยตนเอง) ที่ถ่ายทอดจากโครงการ “มหาวิทยาลัยเด็ก สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี” มาปรับใช้โรงเรียนนำร่องของไทย
  2. เพื่อหาแนวทางขยายผลต้นแบบการส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพไปยังโรงเรียนทั่วประเทศ
  3. เพื่อเพิ่มความตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาด้านการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ในสังคมไทย
  4. เพื่อวางรากฐานระยะยาวในการเตรียมความพร้อมในการพัฒนาสร้างนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรรุ่นใหม่ให้ประเทศไทยมีบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น ทั้งด้านคุณภาพและปริมาณ
  5. เพื่อพัฒนาระบบการเรียนการสอน ให้นักเรียนช่างสังเกต รู้จักคิด รู้จักตั้งคำถาม และค้นหาคำตอบด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในวัยเรียนที่สามารถเรียนรู้ได้สูงสุด

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาตอนปลาย ถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นในประเทศไทย ได้รับการส่งเสริมความรู้ ผ่านกระบวนการการลงมือปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ โดยใช้การทดลองกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ในโครงการเป็นเครื่องมือ โดยปรับใช้หลักสูตรกิจกรรมจากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในท้องถิ่นของตนเอง เพื่อจุดประกายให้เกิดความสนใจและสามารถเรียนรู้วิทยาศาสตร์รอบๆ ตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการ

  1. มหาวิทยาลัยบูรพา และมหาวิทยาลัยเครือข่าย
  2. ศูนย์พัฒนาอัจฉริยภาพประจำภูมิภาค ในกำกับดูแลของ สสวท.
  3. บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย