วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ

"มุ่งสร้างนักวิชาการหรือนักวิทยาศาสตร์สาขาเทคโนโลยีชีวภาพ ที่มีความรู้ความสามารถ ตอบสนองต่อแนวนโยบายการพัฒนาประเทศด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อให้มีความสามารถนำความรู้ภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติตลอดจนประสบการณ์ไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและภาคประชาชน ได้อย่างเหมาะสม โดยมีคุณธรรมและจริยธรรมและการรับผิดชอบต่อวิชาชีพของตนเองในระดับสูง"

ข้อมูลทั่วไป

จากการจัดทำกรอบนโยบายการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพของประเทศไทย (พ.ศ. 2555-2564) ของคณะกรรมการนโยบายเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ได้กำหนดทิศทางการพัฒนาทางเทคโนโลยีชีวภาพให้สอดคล้องกับทิศทางและเป้าหมายของการพัฒนาของนานาชาติและของประเทศ เช่น เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals - MDGs) ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community – AEC) และนโยบายและแผนวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (พ.ศ. 2555-2564) เป็นต้น โดยมุ่งเน้นการประยุกต์ใช้ความรู้ทางเทคโนโลยีชีวภาพมาเพิ่มขีดความสามารถ
ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ยกระดับรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีชีวภาพมาเป็นตัวขับเคลื่อนกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่ส่งผลกระทบหรือทำลายสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ดังนั้น หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิตสาขาเทคโนโลยีชีวภาพจึงเป็นส่วนหนึ่งของกลไกที่จะช่วยขับเคลื่อนเพื่อวางรากฐาน ในการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพของประเทศไทยต่อไป

รายละเอียดหลักสูตร

วัตถุประสงค์ของหลักสูตร

ผลิตบัณฑิตของสาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพให้มีความรู้ความสามารถในการทำงานานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีชีวภาพ โดยสามารถนำไปใช้กับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และผลิตบัณฑิตที่มีความสามารถในการค้นคว้าวิจัยงานทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ประมวลผลพัฒนาแก้ไขปัญหาและนำเสนองานด้านเทคโนโลยีชีวภาพจากทรัพยากรที่มีอยู่ภายในประเทศ โดยใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นตัวชี้นำในการคิดและวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ และมีเหตุผลตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์

จำนวนหน่วยกิตที่เรียนตลอดหลักสูตร

ไม่น้อยกว่า 137 หน่วยกิต

 

รูปแบบของหลักสูตร

หลักสูตรปริญญาตรี 4 ปี

แนวทางการประกอบอาชีพ

  1. นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการ ด้านเทคโนโลยีชีวภาพในหน่วยงานของรัฐและเอกชน
  2. นักประเมิน นักออกแบบ นักวิเคราะห์โครงการด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ในหน่วยงานที่ให้ทุนวิจัย หรือหน่วยงานพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านเทคโนโลยีชีวภาพ
  3. ผู้ประกอบการธุรกิจส่วนตัวเจ้าของธุรกิจ หรือที่ปรึกษาในด้านผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีชีวภาพ และการควบคุมมลภาวะที่เกิดขึ้น เช่น การบำบัดน้ำเสีย หรือวัสดุเหลือทิ้งจากการผลิต เป็นต้น
  4. อาจารย์ ในสถาบันการศึกษาทั้งในส่วนของรัฐและเอกชน
  5. ผู้ตรวจสอบงานหรือมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับงานทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพ
ชื่อปริญญา
วิทยาศาสตรบัณฑิต (สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ)