ภาพส่วนหัวหลักสูตร

ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ

ชื่อวุฒิ:

ชื่อปริญญาภาษาไทย: ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (วิทยาศาสตร์ชีวภาพ) 
ชื่อปริญญาภาษาอังกฤษ: Doctor of Philosophy (Biological Sciences) 
อักษรย่อภาษาไทย: ปร.ด. (วิทยาศาสตร์ชีวภาพ) 
อักษรย่อภาษาอังกฤษ: Ph.D. (Biological Sciences)

สถานที่เรียน:

มหาวิทยาลัยบูรพา บางแสน

ประเภทหลักสูตร:

หลักสูตรปริญญาเอก

จำนวนหน่วยกิตที่สำเร็จ:

จํานวนหน่วยกิต รวมตลอดหลักสูตร

  • แบบ 1.1 สําหรับผู้สําเร็จการศึกษาระดับปริญญาโททําดุษฎีนิพนธ์ไม่น้อยกว่า 48 หน่วยกิต
  • แบบ 1.2 สําหรับผู้สําเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีทําดุษฎีนิพนธ์ไม่น้อยกว่า 72 หน่วยกิต

รายละเอียดเพิ่มเติม
ปรัชญาหลักสูตร:

มุ่งพัฒนาศักยภาพของดุษฎีบัณฑิต ให้มีความรู้ความสามารถในการทําวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพระดับสากล และมีคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพ เพื่อผลิตผลงานวิจัยที่เป็นองค์ความรู้ใหม่ที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในระดับชาติและนานาชาติ

ความสำคัญของหลักสูตร:

วิทยาศาสตร์ชีวภาพเป็นพื้นฐานความรู้ที่สําคัญในการพัฒนา และแก้ไขปัญหาทางการแพทย์ สาธารณสุข อุตสาหกรรม การเกษตร การผลิตอาหาร พลังงานทดแทน และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ ความรู้ดังกล่าวเป็นกลไกสําคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ และส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีแก่สังคม นอกจากนี้ความรู้พื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพของประเทศไทย ยังสามารถเป็นองค์ความรู้ใหม่ในประชาคมโลก อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคม ยังขาดข้อมูลพื้นฐานอยู่มาก ดังจะเห็นได้จากผลสืบเนื่องของการพัฒนาที่ไม่เหมาะสม เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อม ความเสื่อมโทรมของทรัพยากร หรือการปนเปื้อนของสารพิษในอาหารซึ่งปัญหาเหล่านี้นับแต่จะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ หากไม่มีการแก้ไขอย่างเป็นระบบ ดังนั้น การพัฒนาบุคลากรทางวิทยาศาสตร์ชีวภาพที่มีทักษะในการทําวิจัย และสามารถก้าวทันวิทยาการทางวิทยาศาสตร์ ชีวภาพที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จึงมีความจําเป็นอย่างยิ่งวิทยาศาสตร์ชีวภาพ มีธรรมชาติที่เป็นพหุสาขาวิชาที่ต้องบูรณาการศาสตร์หลาย ๆ ด้าน ซึ่งศาสตร์ที่เกี่ยวข้องมีการพัฒนารุดหน้าไปมากในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นองค์ความรู้ใหม่ ๆ เทคนิค และเครื่องมือการทําวิจัยที่ทันสมัย และเทคนิคการวิเคราะห์ข้อมูลแบบใหม่ ๆ ในขณะที่บุคลากรสาขา วิทยาศาสตร์ชีวภาพของไทยยังขาดโอกาสที่จะฝึกฝนตนเองให้มีประสบการณ์ทัดเทียมกับความก้าวหน้าเหล่านี้หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ จึงเปิดโอกาสให้บุคคลากรด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพได้มีโอกาสเพิ่มพูนประสบการณ์ของผู้ที่ทํางานด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพอย่างต่อเนื่องอันจะนํามาซึ่งการสร้างและพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับการพัฒนาประเทศ นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยบูรพา ยังตั้งอยู่ในชัยภูมิที่เหมาะสมต่อการทําวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพ เนื่องจากอยู่ใกล้กับแหล่งทรัพยากร และปัญหาผลกระทบต่างๆ ที่เกิดจากอุตสาหกรรม ซึ่งสามารถพัฒนาเป็นโจทย์วิจัยที่จะเผยแพร่ในวารสารที่มีผลกระทบสูง สร้างความรู้สู่ชุมชน การต่อยอดงานวิจัยเพิ่มมูลค่า ทางเศรษฐกิจ และแก้ปัญหาชุมชนได้ตรงจุดปัญหาด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิต และการพัฒนาประเทศ นับแต่จะทวีความซับซ้อนขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งการแก้ปัญหาต้องอาศัยมุมมอง และความรู้เชิงบูรณาการ ลักษณะการเรียนรู้ที่เป็นพหุสาขาวิชา ดังเช่น หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ จะเปิดโลกทัศน์ของนิสิตดุษฎีบัณฑิตให้เชื่อมโยงความรู้จากหลายแขนงในการแก้ปัญหาที่ซับซ้อนได้และสร้างสรรค์ความรู้ใหม่ ๆ ดังนั้นการเรียนการสอนลักษณะดังกล่าวจึงมีความจําเป็นอย่างยิ่ง ทั้งในแง่ของการผลิตความรู้พื้นฐาน และประยุกต์ที่จะเป็นต้นทุนคลังปัญญาของประเทศสําหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน และในแง่ของการฝึกทักษะของนิสิตดุษฎีบัณฑิตให้คิดวิเคราะห์ปัญหา หรือโจทย์การวิจัยในลักษณะบูรณาการ

ผลลัพธ์การเรียนรู้:
  • PLO1.1 มีความรับผิดชอบ มีจริยธรรมทางวิชาการด้าน วิทยาศาสตร์ชีวภาพ บนพื้นฐานความซื่อสัตย์ สุจริต มีวินัย มีคุณธรรม จริยธรรม เป็นแบบอย่างที่ดีต่อผู้อื่น และมีความเข้าใจ เห็นคุณค่าของตนเอง สังคม ศิลปวัฒนธรรมและธรรมชาติ 
  • PLO1.2 ผลิตผลงานวิจัยและงานตีพิมพ์ หรือผลงานอื่นด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ในฐานข้อมูลที่เป็นที่ยอมรับทั้งในระดับชาติและระดับสากล โดยไม่คัดลอกผู้อื่นบนพื้นฐานของจรรยาบรรณทางวิชาการ 
  • PLO 2.1 มีความรอบรู้ เข้าใจหลักการและทฤษฎีขั้นพื้นฐาน และขั้นสูงทางด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพและสาขาที่เกี่ยวข้อง 
  • PLO2.2 สามารถประยุกต์ความรู้ภาคทฤษฎีสู่การปฏิบัติ โดยยึดแนวทางตามกระบวนการวิทยาศาสตร์ 
  • PLO2.3 สามารถติดตามความก้าวหน้า วิชาการสมัยใหม่ ทางด้าน วิทยาศาสตร์ชีวภาพและสาขาที่เกี่ยวข้อง พร้อมสามารถวิเคราะห์ และวิจารณ์ได้โดยยึดแนวคิดทางด้านวิทยาศาสตร์ 
  • PLO3.1 มีทักษะการแสวงหาความรู้ ทางด้าน วิทยาศาสตร์ชีวภาพและสาขาที่เกี่ยวข้องและนําความรู้ไปประยุกต์ใช้ เพื่อพัฒนาตนเอง อย่างต่อเนื่อง 
  • PLO3.2 มีทักษะการคิดแบบองค์รวม เพื่อแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับสถานการณ์ 
  • PLO3.3 สามารถคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ อย่างมีเหตุผล ตามแนวคิดของกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ 
  • PLO4.1 ทํางานร่วมกับผู้อื่นได้ โดยจิตสาธารณะ มีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคมมีสํานึกในคุณค่าของการเป็นพลเมืองที่ดีต่อสังคมและสํานึกในความเป็นไทย 
  • PLO4.2 มีสภาวะการเป็นผู้นํา ในการทํางานวิจัยร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ หรือผู้ร่วมงานสาขาอื่น และแสดงออกถึงทัศนคติที่ดีต่อวิชาชีพทางด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพและสาขาที่เกี่ยวข้องด้านทักษะการวิเคราะห์เชิงตัวเลข การสื่อสาร และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ 
  • PLO5.1 สามารถใช้ข้อมูลเชิงตัวเลขและเทคโนโลยีสารสนเทศ ในงานวิจัยได้อย่างได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม โดยมีการใช้ความรู้ทางสถิติ คณิตศาสตร์ หรือคอมพิวเตอร์มาร่วมวิเคราะห์ โดยยึดแนวทางตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ 
  • PLO5.2 สามารถใช้ภาษาอังกฤษ ในการสื่อสารและถ่ายทอดความรู้ ทั้งในรูปแบบโปสเตอร์และบรรยาย ให้กับผู้เรียนร่วมชั้นเรียน อาจารย์ ผู้เข้าร่วมประชุม และบุคคลทั่วไป ในระดับ นานาชาติ ได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ
เกณฑ์การรับเข้า:

แบบ 1.1 ทําดุษฎีนิพนธ์ สําหรับผู้สําเร็จการศึกษาปริญญาโท 

  1. สําเร็จการศึกษาปริญญาโทหรือเทียบเท่า ในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหรือสาขาที่เกี่ยวข้อง 
  2. มีผลการสอบภาษาอังกฤษได้ตามประกาศของมหาวิทยาลัยบูรพา เรื่อง มาตรฐานการทดสอบภาษาอังกฤษสําหรับนิสิตระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ. 2562 

แบบ 1.2 ทําดุษฎีนิพนธ์ สําหรับผู้สําเร็จการศึกษาปริญญาตรี 

  1. สําเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหรือสาขาที่เกี่ยวข้อง และมีผลการเรียนในระดับคะแนนเกียรตินิยมหรืออยู่ในร้อยละ 25 แรกของชั้น หรือ 
  2. สําเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหรือสาขาที่เกี่ยวข้อง เกรดเฉลี่ย ไม่ต่ํากว่า 2.70 และต้องมีผลงานตีพิมพ์ อย่างน้อย 1 เรื่อง ในวารสารระดับนานาชาติที่อยู่ในฐานข้อมูลทางด้านวิทยาศาสตร์ ตามประกาศ ก.พ.อ. เรื่องหลักเกณฑ์การพิจารณาวารสารทางวิชาการ สําหรับการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการ พ.ศ. 2562 ข้อ 3.1 ฐานข้อมูลระดับนานาชาติ ได้แก่ ERIC, MathSciNet, Pubmed, Scopus, Web of Science (เฉพาะในฐานข้อมูล SCIE, SSCI และ AHCI เท่านั้น), JSTOR และ Project Muse (เอกสารแนบ 7) 
  3. มีผลการสอบภาษาอังกฤษได้ตามตามประกาศของมหาวิทยาลัยบูรพา เรื่องมาตรฐานการทดสอบภาษาอังกฤษสําหรับนิสิตระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ. 2562 

หมายเหตุ: ผู้ที่ไม่อยู่ในเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้นสามารถสมัครเข้ารับการสอบคัดเลือกเพื่อศึกษาในหลักสูตรได้ทั้งนี้ให้เป็นไปตามดุลพินิจของคณะกรรมการผู้รับผิดชอบหลักสูตร

เกณฑ์การสำเร็จ:

เกณฑ์การสําเร็จการศึกษาเป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัยบูรพา ว่าด้วยการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ. 2562 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ถ้ามี) และ 

  1. ศึกษารายวิชาครบถ้วนตามที่กําหนดในหลักสูตร โดยได้แต้มระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมไม่ต่ํากว่า 3.00 
  2. นิสิตจะต้องผ่านการสอบวัดคุณสมบัติ (qualifying examination) ตามที่คณะกรรมการผู้รับผิดชอบหลักสูตรกําหนดในกรณีที่นิสิตสอบไม่ผ่านสามารถสอบ (เทียบ) ใหม่ ได้อีก 2 ครั้งหากสอบไม่ผ่านจะพ้นสภาพนิสิตปริญญาเอก 
  3. นิสิตจะต้องผ่านการสอบโครงร่างดุษฎีนิพนธ์ต่อคณะกรรมการควบคุมดุษฎีนิพนธ์ที่มหาวิทยาลัยบูรพาแต่งตั้งเมื่อสอบผ่านการวัดคุณสมบัติและลงทะเบียนเรียนดุษฎีนิพนธ์แล้ว 
  4. นิสิตจะต้องเขียนเล่มดุษฎีนิพนธ์เป็นภาษาอังกฤษและส่งรายงานความก้าวหน้าต่ออาจารย์ที่ปรึกษาและคณะกรรมการควบคุมดุษฎีนิพนธ์ 1 ครั้งต่อภาคการศึกษาและสอบผ่านดุษฎีนิพนธ์ 
  5. นิสิตที่เข้าเรียนแบบ 1.1 ต้องได้รับการตีพิมพ์หรือตอบรับเพื่อตีพิมพ์ผลงานวิจัยอันเป็นส่วนหนึ่งของดุษฎีนิพนธ์ในลักษณะเรื่องเต็มจํานวนอย่างน้อย 2 เรื่องในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ โดยอย่างน้อย 1 เรื่อง ต้องอยู่ในวารสารระดับนานาชาติที่อยู่ในฐานข้อมูลทางด้านวิทยาศาสตร์ตามประกาศ ก.พ.อ. เรื่องหลักเกณฑ์การพิจารณาวารสารทางวิชาการ สําหรับการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการ พ.ศ. 2562 ข้อ 3.1 ฐานข้อมูลระดับนานาชาติ ได้แก่ ERIC, MathSciNet, Pubmed, Scopus, Web of Science (เฉพาะในฐานข้อมูล SCIE, SSCI และ AHCI เท่านั้น), JSTOR และ Project Muse 
  6. นิสิตที่เข้าเรียนแบบ 1.2 ต้องได้รับการตีพิมพ์หรือตอบรับเพื่อตีพิมพ์ผลงานวิจัยอันเป็นส่วนหนึ่งของดุษฎีนิพนธ์ในลักษณะเรื่องเต็มก่อนสําเร็จการศึกษาจํานวนอย่างน้อย 2 เรื่องในวารสารระดับนานาชาติที่อยู่ในฐานข้อมูลทางด้านวิทยาศาสตร์ตามประกาศ ก.พ.อ. เรื่องหลักเกณฑ์การพิจารณาวารสารทางวิชาการ สําหรับการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการ พ.ศ. 2562 ข้อ 3.1 ฐานข้อมูลระดับนานาชาติ ได้แก่ ERIC, MathSciNet, Pubmed, Scopus, Web of Science (เฉพาะในฐานข้อมูล SCIE, SSCI และ AHCI เท่านั้น), JSTOR และ Project Muse 
  7. นิสิตที่ได้รับทุนโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) ต้องได้รับการตีพิมพ์หรือตอบรับเพื่อตีพิมพ์ผลงานวิจัยอันเป็นส่วนหนึ่งของดุษฎีนิพนธ์ ในลักษณะเรื่องเต็มอย่างน้อย 2 เรื่อง ก่อนสําเร็จการศึกษา ทั้งนี้ให้เป็นไปตามเงื่อนไขตามประกาศของโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก เรื่อง เกณฑ์การสําเร็จการศึกษาสําหรับนักศึกษา คปก. และที่แก้ไขเพิ่มเติม 
  8. นิสิตที่ได้รับทุนอื่นๆ ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของการรับทุน ก่อนสําเร็จการศึกษา ทั้งนี้ให้เป็นไปตามเงื่อนไขตามประกาศของทุนนั้นๆ และที่แก้ไขเพิ่มเติม 
  9. นิสิตจะต้องสอบผ่าน การสอบดุษฎีนิพนธ์แบบปากเปล่าต่อคณะกรรมการสอบดุษฎีนิพนธ์โดยเปิดให้ผู้สนใจเข้าฟัง และมีประกาศให้ทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วัน
อาชีพที่สามารถทำได้:

อาจารย์ นักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการ นักวิจัย และผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับงานทางวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ทั้งของภาครัฐ และภาคเอกชน หน่วยงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง และผู้ประกอบการที่มีความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพไปประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพอิสระ

ค่าธรรมเนียม:
  • นิสิตไทย เต็มเวลา แบบ 1.1 และ 2.1 210,000 บาท
  • นิสิตไทย เต็มเวลา แบบ 1.2 และ 2.2 280,000 บาท
  • นิสิตต่างชาติ แบบ 1.1 600,000 บาท
  • นิสิตต่างชาติ แบบ 1.2 800,000 บาท

ประธานหลักสูตร

ศ.ดร.กันทิมา สุวรรณพงศ์
ศ.ดร.กันทิมา สุวรรณพงศ์
ประธานหลักสูตร

กรรมการหลักสูตร

รศ.ดร.กล่าวขวัญ ศรีสุข
รศ.ดร.กล่าวขวัญ ศรีสุข
ศ.ดร.กันทิมา สุวรรณพงศ์
ศ.ดร.กันทิมา สุวรรณพงศ์
รศ.ดร.วรนพ สุขภารังษี
รศ.ดร.วรนพ สุขภารังษี
รศ.ดร.วาสินี พงษ์ประยูร
รศ.ดร.วาสินี พงษ์ประยูร
ผศ.ดร.แวววลี โชคแสวงการ
ผศ.ดร.แวววลี โชคแสวงการ
ผศ.ดร.ศนิ จิระสถิตย์
ผศ.ดร.ศนิ จิระสถิตย์
ผศ.ดร.สลิล ชั้นโรจน์
ผศ.ดร.สลิล ชั้นโรจน์
ผศ.ดร.สาลินี ขจรพิสิฐศักดิ์
ผศ.ดร.สาลินี ขจรพิสิฐศักดิ์
ผศ.ดร.สุดารัตน์ ถาราช
ผศ.ดร.สุดารัตน์ ถาราช
เอกสารหลักสูตร