วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาชีวเคมี

ข้อมูลทั่วไป

"หลักสูตรนี้มุ่งผลิตมหาบัณฑิตที่มีความรู้ทางชีวเคมี มีศักยภาพในการทำวิจัยและบูรณาการความรู้กับศาสตร์อื่น เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชากรในภูมิภาคตะวันออกและภูมิภาคอื่นของประเทศได้อย่างมีคุณธรรม จริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการและวิชาชีพ"

          เนื่องด้วยภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ตั้งอยู่ในพื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรม ที่อยู่ในโครงการเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor; EEC) ซึ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ ทั้งในด้านของกระบวนการผลิต การตรวจสอบคุณภาพและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และยังเป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ดังนั้นการศึกษาทางด้านชีวเคมี ซึ่งเป็นศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้าง หน้าที่และเมแทบอลิซึมของสาร ชีวโมเลกุลชนิดต่างๆ ในร่างกายของสิ่งมีชีวิต จึงเป็นพื้นฐานสำคัญ ที่สามารถนำไปบูรณาการกับศาสตร์อื่นได้หลากหลายแขนง ทั้งด้านการแพทย์ การเกษตร สิ่งแวดล้อม ตลอดจนเทคโนโลยีชีวภาพ เพื่อนำไปพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ ตลอดจนยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในสังคม

          ด้วยเหตุนี้ หลักสูตรฯ จึงมุ่งผลิตมหาบัณฑิตที่มีความรู้ทางชีวเคมีและมีศักยภาพในการปฏิบัติงานและทำวิจัย โดยใช้เทคโนโลยีด้านชีวเคมีและศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างและเผยแพร่องค์ความรู้ใหม่หรือนวัตกรรมที่จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมภาคตะวันออกและประเทศชาติ บนพื้นฐานของการมีคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณทางวิชาการและวิชาชีพเป็นสำคัญ

รายละเอียดหลักสูตร

 วัตถุประสงค์ของหลักสูตร

     เมื่อสิ้นสุดการเรียนการสอนตามหลักสูตรนี้ มหาบัณฑิตจะมีสมรรถนะ ดังนี้

  1. สามารถประพฤติตนและปฏิบัติงานตามกฎระเบียบของหน่วยงาน จริยธรรม และจรรยาบรรณทางวิชาการและวิชาชีพ รวมทั้งมีความตรงต่อเวลาและบริหารจัดการเวลาได้อย่างเหมาะสม
  2. สามารถอธิบายความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ด้านชีวเคมี สามารถประยุกต์และบูรณาการความรู้ทางชีวเคมีและศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้
  3. สามารถคิด วิเคราะห์ ประยุกต์ความรู้ วางแผนและดำเนินการวิจัย เพื่อแก้ปัญหาโจทย์วิจัยทางชีวเคมี ได้อย่างเป็นระบบ รวมทั้งสามารถทำการวิจัย ค้นคว้า เพื่อให้เกิดองค์ความรู้หรือนวัตกรรมใหม่ในสาขาชีวเคมี และเผยแพร่ผลงานในวงกว้าง
  4. สามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ความรู้ทางคณิตศาสตร์และสถิติ เพื่อการวิเคราะห์ วิจัยและถ่ายทอดความรู้ รวมถึงสามารถใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารทางวิชาการ  
  5. สามารถทำงานเป็นทีม มีความรับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมาย พร้อมเรียนรู้เปิดรับสิ่งใหม่ เพื่อมุ่งประสานผลสำเร็จของงาน


 จำนวนหน่วยกิตที่เรียนตลอดหลักสูตร 

  • แผน ก แบบ ก 2    ไม่น้อยกว่า  36 หน่วยกิต

 

 รูปแบบของหลักสูตร 

  • รูปแบบ:  หลักสูตรปริญญาโท 
  • ภาษาที่ใช้: หลักสูตรจัดการศึกษาเป็นภาษาไทย
  • การรับเข้าศึกษา: รับทั้งนิสิตไทยและนิสิตต่างชาติที่ใช้ภาษาอังกฤษหรือภาษาไทยได้ดี
  • ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอื่น (ภาครัฐ ภาคเอกชน หรือชุมชน): เป็นหลักสูตรของสถาบันโดยเฉพาะ
  • การให้ปริญญาแก่ผู้สำเร็จการศึกษา: ให้ปริญญาเพียงสาขาวิชาเดียว

 

 ระบบการจัดการศึกษา 

  • ระบบทวิภาคระบบทวิภาค โดย 1 ปีการศึกษาแบ่งออกเป็น 2 ภาคการศึกษาปกติ และ 1 ภาคการศึกษาปกติมีระยะเวลาการศึกษา ไม่น้อยกว่า 15 สัปดาห์
  • ไม่มีภาคฤดูร้อน

แนวทางการประกอบอาชีพ

  • นักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ และนักวิจัยของหน่วยงานราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจหรืองานเอกชนที่ทำงานทางด้านชีวเคมี ในการผลิตและตรวจสอบคุณภาพสินค้าทางการเกษตร อุตสาหกรรมอาหาร ยาและเครื่องสำอาง การวินิจฉัยทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์

  • หัวหน้าห้องปฏิบัติการชีวเคมี ด้านการค้นคว้าและวิจัยเพื่อทำให้เกิดการพัฒนาหรือปรับปรุง งานด้านการผลิต การวินิจฉัยทางการแพทย์ การหาองค์ความรู้ใหม่เพื่อเป็นรากฐานงานวิจัยทางด้านชีวภาพ  

  • อาชีพอื่นๆที่ต้องใช้ความรู้ทางด้านชีวเคมี เช่น นักวิเคราะห์โครงงานวิจัย ผู้เชี่ยวชาญผลิตภัณฑ์ต่างๆ

ชื่อปริญญา
วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาวิชาชีวเคมี)