ความเป็นมาของภาควิชา

ที่ตั้งของมหาวิทยาลัยมีความเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับการจัดการศึกษาใน สาขาวาริชศาสตร์ (aquatic science) ทั้งนี้เพราะอยู่ใกล้กับทะเล อ่างเก็บน้ำ และแม่น้ำหลายสาย มีแหล่งทำการประมง การเพาะเลี้ยงพืชและสัตว์น้ำ

การศึกษาต่อหลังจบการศึกษา

สามารถเข้าศึกษาต่อระดับบัณฑิตศึกษาได้จากมหาวิทยาลัยทั้งในและต่างประเทศ ที่เปิดทำการเรียนการสอนทางด้านวาริชศาสตร์ หรือสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง 

การประกอบอาชีพในสายงาน

นักวิชาการประมง/ เพาะพันธุ์สัตว์น้ำ/ นักวิจัย/ อาจารย์/ นักสำรวจประเมินสิ่งแวดล้อม-นิเวศวิทยา/ พนักงานของรัฐ-เอกชน/ ประกอบธุรกิจส่วนตัว

บริการวิชาการ

โครงการบริการวิชาการภาควิชาวาริชศาสตร์ ปีงบประมาณ 2567 การใช้บริการเครื่องมือ อุปกรณ์ และอัตราค่าวิเคราะห์-วิจัย 
 

ประวัติความเป็นมา

       ภาควิชาวาริชศาสตร์มหาวิทยาลัยบูรพาได้จัดตั้งขึ้น เมื่อครั้งยังเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ บางแสน โดยในขณะนั้นได้พิจารณาเห็นว่า ที่ตั้งของมหาวิทยาลัยมีความเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับการจัดการศึกษาใน สาขาวาริชศาสตร์ (aquatic science) ทั้งนี้เพราะอยู่ใกล้กับทะเล อ่างเก็บน้ำ และแม่น้ำหลายสาย มีแหล่งทำการประมง การเพาะเลี้ยงพืชและสัตว์น้ำ ประกอบกับมหาวิทยาลัยในขณะนั้นได้ดำเนินงานในด้านพิพิธภัณฑ์สัตว์และสถานเลี้ยงสัตว์น้ำเค็มอันเป็นรากฐานสำคัญที่สามารถช่วยสนับสนุนการเรียนการสอนในสาขานี้ได้เป็นอย่างดี มหาวิทยาลัยในขณะนั้นได้ดำเนินการจัดทำหลักสูตรและโครงการจัดตั้งภาควิชาวาริชศาสตร์ เพื่อเปิดสอนในคณะวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บางแสน และได้รับการพิจารณาอนุมัติจากทบวงมหาวิทยาลัยให้เปิดดำเนินการได้ ในปีพุทธศักราช 2525 โดยเปิดรับนิสิตรุ่นแรกเมื่อปีการศึกษา 2526

       ภาควิชาวาริชศาสตร์ได้รับการพัฒนาขึ้นเป็นลำดับ ทั้งด้านครุภัณฑ์และบุคลากรจนมีศักยภาพเพียงพอที่จะเปิดสอนในหลักสูตรปริญญาโทสาขาวาริชศาสตร์ ในปี 2537 และหลักสูตรปริญญาดุษฎีบัณฑิตในปี2553 รวมถึงได้รับนิสิตนานาชาติในระดับบัณฑิตศึกษาซึ่งรวมถึงนิสิตจากประเทศอินโดนีเซียและ สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยได้สร้างภาคีการวิจัยและบริการวิจัยกับหน่วยงานระดับนานาชาติ เช่น Zhejiang Ocean University (P.R. China), University of Brawijaya (Indonesia), Nagoya University, Japan Agency for Marine-Earth Science and Technology (JAMSTEC), Institute of Oceanography Vietnam, Marine Science Institute University of the Philippines Gothenberg University Sweden, องค์กร PEMSEA เป็นต้น ร่วมถึงหน่วยงานในระดับชาติ และท้องถิ่น ที่มีความร่วมมือในการทำการวิจัย เช่น กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมเชื้อเพลิง บริษัทปิโตรเลียม จำกัดแห่งประเทศไทย และเทศบาลเมืองแสนสุข รวมถึงภาคเอกชนอีกหลายแห่ง จนในปัจจุบันภาควิชาวาริชศาสตร์เป็นหน่วยงานที่สำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ระดับคณะ และมหาวิทยาลัยในการวิจัยด้านศาสตร์ทางทะเล เพื่อส่งเสริมองค์กรให้เข้าสู่การแข่งขันระดับชาติและประชาคมเอเชียอย่างเข้มแข็ง

       คณาจารย์ของภาควิชาวาริชศาสตร์ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากหลากหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ และเอกชนอย่างต่อเนื่องทั้งในด้านเทคโนโลยีเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ประมงด้านนิเวศวิทยา ด้านชีววิทยาสัตว์น้ำ ด้านสมุทรศาสตร์ และการจัดการสิ่งแวดล้อมทางน้ำ ยกตัวอย่างเช่น ทุนจากโครงการระดับนานาชาติ (CIDA, USAID) ทุนวิจัยจากงบประมาณแผ่นดินและเงินรายได้จากมหาวิทยาลัยบูรพา ทุนจากกรมพัฒนาเชื้อเพลิงธรรมชาติศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ และทุนจากบริษัทพีทีทีโกลบอลเคมิคอล จำกัด เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีคณาจารย์ได้จดสิทธิบัตรเกี่ยวกับนวัตกรรมเทคโนโลยีด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ทางด้านการพัฒนาสังคมภาควิชาวาริชศาสตร์ยังได้บริการวิชาการแก่สังคมและชุมชนอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแก่ เกษตรกร ชุมชน และนักวิชาการที่สนใจการบ่มเพาะวิสาหกิจด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และด้านการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ดังนั้นนิสิตวาริชศาสตร์ทุกระดับจึงมีโอกาสได้มีส่วนร่วมในงานวิจัยและบริการวิชาการที่ตอบโจทย์ทางวิชาการและสังคม

       ภาควิชาวาริชศาสตร์มุ่งมั่นที่จะผลิตบัณฑิต ที่มีความรู้ เชี่ยวชาญ ทั้งภาคทฤษฏี ภาคปฏิบัติในห้องปฏิบัติการและภาคสนาม เพื่อตอบสนองตลาดงานที่เกี่ยวข้องกับสาขาวาริชศาสตร์ ในระดับประเทศและภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นการใช้ประโยชน์และการอนุรักษ์ทรัพยากรในแหล่งน้ำ ทั้งน้ำจืด น้ำเค็ม และน้ำกร่อย การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ประมง และการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมในแหล่งน้ำ เป็นต้น โดยผ่านคณาจารย์มีความเชี่ยวชาญในหลากหลายสาขา ทั้งยังมีผลงานวิจัยทางวิชาการซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับชาติและนานาชาติอย่างต่อเนื่อง

สาขาที่เปิดสอน
       B.Sc. Aquatic Science
       M.Sc. Aquatic Science
       Ph.D. Aquatic Science

กลุ่มสาขาวิชาเอกเลือก
       1.การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและเทคโนโลยีการประมง เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง การเพาะพันธ์สัตว์น้ำได้แก่ ปลา ครัสเตเชียน ปลาสวยงาม และพรรณไม้น้ำ ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โรคและพยาธิสัตว์น้ำ หลักการจัดการฟาร์มและธุรกิจการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเป็นต้น
       2.ชีววิทยาและนิเวศวิทยาทางน้ำ ชีววิทยาและนิเวศวิทยาของสัตว์ทะเล ระบบนิเวศแนวปะการัง หญ้าทะเล ป่าชายเลน สิ่งมีชีวิตหน้าดิน แพลงก์ตอนวิทยา พืชน้ำ และพิษจากสิ่งมีชีวิตในทะเล เป็นต้น
       3.สมุทรศาสตร์และเทคโนโลยีภูมิศาสตร์ ลักษณะทางด้านกายภาพของมหาสมุทร คุณสมบัติของน้ำทะเลทางกายภาพและเคมี การไหลเวียนของน้ำในมหาสมุทรและชายฝั่ง การกระจายของมวลสารในมหาสมุทร และการตรวจสอบข้อมูลทางภูมิศาสตร์ ระบบจัดเก็บการการจัดการข้อมูล กระบวนการวิเคราะห์ข้อมูล การจำแนกข้อมูลรวมถึงการประยุกต์ใช้ในการจัดการทรัพยากรทางน้ำ
       4.มลพิษและสิ่งแวดล้อมทางน้ำ สิ่งแวดล้อมในทะเลและแหล่งน้ำ ด้านกายภาพ เคมี และชีวภาพ การประเมินผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมชายฝั่ง สาเหตุและแนวทางการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น รวมทั้งการประเมินความเสี่ยง ของสารต่างๆต่อสิ่งมีชีวิตในแหล่งน้ำ ทั้งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ และ การกระทำของมนุษย์ และพัฒนาตัวบ่งชี้คุณภาพทางน้ำ เพื่อการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน


(Science-Burapha)

ภาควิชาวาริชศาสตร์

ชั้น 1 อาคารวิทยาศาสตร์ชีวภาพ
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
169 ถ.ลงหาดบางแสน ต.แสนสุข
อ.เมือง จ.ชลบุรี 20131
โทรศัพท์ 0-3810-3092
แฟกซ์ 038-393491

สถานที่ตั้ง

FACEBOOK

 

Search