ประวัติความเป็นมา

 

       คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เป็นส่วนงานของมหาวิทยาลัยบูรพาที่มีภารกิจด้านการสอน การวิจัย การให้บริการวิชาการ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีบุคลากรสายสอนที่ทำหน้าที่สอนและวิจัยเป็นหลัก จำเป็นที่จะต้องใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์ในการเรียนการสอนในรายวิชาปฏิบัติการขั้นสูงที่ใช้เครื่องมือขั้นสูง ในการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ การทำวิทยานิพนธ์และดุษฎีนิพนธ์ และการวิจัยในโครงการวิจัยจากแหล่งทุนภายนอกมูลค่ากว่า 30 ล้านบาทต่อปี จากการสำรวจครุภัณฑ์เมื่อปี 2553 คณะวิทยาศาสตร์มีเครื่องมือวิทยาศาสตร์ขนาดกลางและใหญ่ (ราคาเกิน 100,000 บาท) ที่อยู่ในความดูแลของภาควิชา จำนวนมากกว่า 335 เครื่อง เป็นมูลค่ามากกว่า 180 ล้านบาท แต่ในการนี้มีครุภัณฑ์จำนวน 83 เครื่อง (45 ล้านบาท) ที่อยู่ในสภาพดีพร้อมใช้งาน มีครุภัณฑ์จำนวน 122 เครื่อง (70 ล้านบาท) ที่ชำรุดใช้งานได้บางส่วน และมีครุภัณฑ์จำนวน 130 เครื่อง (65 ล้านบาท) ที่ชำรุดใช้งานไม่ได้ และมีความต้องการที่จะซื้อครุภัณฑ์ทดแทนและซื้อใหม่ ประมาณ 50 เครื่อง (22 ล้านบาท) นอกจากนี้ครุภัณฑ์เหล่านี้ส่วนใหญ่มีอายุการใช้งานเกิน 10 ปี ทำให้ปัจจุบันคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพามีความจำเป็นในการจัดหาครุภัณฑ์เพิ่มเติม แต่ด้วยงบประมาณแผ่นดินที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลมีจำกัด ให้การสนับสนุนในการจัดซื้อครุภัณฑ์ปีละ 1-2 ล้านบาทต่อปี ที่ต้องใช้ในการซื้อครุภัณฑ์สำหรับรายวิชาพื้นฐานและการก่อสร้างด้วย ดังนั้นการจัดซื้อตามความต้องการของภาควิชาและส่วนกลางที่เสนอขอในแต่ละปีประมาณ 20 ล้านบาท ไม่เพียงพอ ส่วนงบประมาณเงินรายได้ของคณะวิทยาศาสตร์ที่ได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการศึกษาจำเป็นที่ต้องใช้ในการดำเนินงานของการเรียนการสอนพื้นฐานเป็นหลัก และเป็นค่าธรรมเนียมอัตราเก่าที่ใช้มากว่า 10 ปี และได้จัดสรรงบประมาณเหล่านี้กระจายไปในแต่ภาควิชา ทำให้ไม่สามารถจัดซื้อครุภัณฑ์วิทยาศาสตร์ขั้นสูงได้ นอกจากนี้ การดูแลเครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ยังขาดแคลนบุคลากร งบประมาณและระบบจัดการเป็นอย่างมาก เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เครื่องมือมีความเสี่ยงต่อการเกิดการชำรุดเสียหาย

       ดังนั้น คณะวิทยาศาสตร์ มีดำริที่จะจัดตั้งหน่วยบริการเครื่องมือวิทยาศาสตร์กลางขึ้น เพื่อเป็นหน่วยงานศูนย์กลางจัดหา ดูแล และให้บริการเครื่องมือวิทยาศาสตร์ขั้นสูงและทันสมัย ในการเรียนการสอนรายวิชาต่างๆ และการทำวิจัย ของบุคลากรและนิสิตให้มีความสะดวก รวดเร็ว และมีระบบ ในการรับบริการ ที่จะทำให้บุคลากรและนิสิตของคณะวิทยาศาสตร์ สามารถได้ผลงานวิจัยให้ตามนโยบายและยุทธศาสตร์ของคณะวิทยาศาสตร์ และมหาวิทยาลัยบูรพาที่วางไว้ได้ โดยการจัดซื้อและดูแลเครื่องมือตามความต้องการร่วมกันของหน่วยนี้จะทำให้ลดจำนวนเครื่องมือที่จะต้องซื้อแยกในแต่ละหน่วยงาน ลดค่าบำรุงรักษาและซ่อมแซม และมีผู้เชี่ยวชาญและนักวิทยาศาสตร์ดูแลอย่างมีระบบ ทำให้เกิดการใช้งานเครื่องมืออย่างคุ้มค่า นอกจากนี้ยังสามารถให้บริการให้หน่วยงานภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยบูรพา นำไปสู่การสร้างเครือข่ายวิจัย และตอบสนองความต้องการของการพัฒนาประเทศชาติอีกด้วย โดยช่วงแรกของการจัดตั้งจะรวบรวมเครื่องมือในส่วนของโครงการบัณฑิตศึกษา และห้องปฏิบัติการกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน และเครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่ภาควิชาแจ้งความประสงค์ที่จะมอบเครื่องมือวิทยาศาสตร์ให้อยู่ในความดูแลของหน่วยฯ ให้ทางคณะกรรมการหน่วยฯ พิจารณารวบรวมเป็นเครื่องมือวิทยาศาสตร์ของศูนย์ต่อไป

       คณะวิทยาศาสตร์จึงได้จัดตั้งหน่วยบริการเครื่องมือวิทยาศาสตร์กลางขึ้น ปี 2556 โดยใช้พื้นที่อาคารปฏิบัติการพื้นฐานและศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ชั้น 6 โดยจะจัดซื้อ ดูแล และให้บริการเช่น เครื่องมือกลุ่มโครมาโตกราฟฟี (Chromatography) กลุ่มสเปกโทรสโกปี (Spectroscopy) กลุ่มชีววิทยาศาสตร์เพื่อสุขภาพ (Life science) กลุ่มวัสดุศาสตร์ (Material science) กลุ่มซอฟท์แวร์ (Software) และกลุ่มอื่นๆ ที่คณะกรรมการหน่วยฯ และคณะกรรมการประจำคณะเห็นชอบ โดยให้บริการแบบ ยกเว้นค่าบริการสำหรับการใช้ในการสอนรายวิชาปฏิบัติการในหลักสูตรของคณะวิทยาศาสตร์ และในอัตราที่มีส่วนลดพิเศษ และมียกเว้นค่าบริการในวงเงินตามประเภทของผู้ใช้งานสำหรับการใช้งานสาหรับโครงงานวิทยาศาสตร์ ปัญหาพิเศษ หรือโครงการวิจัย ของบุคลากร และนิสิตของคณะวิทยาศาสตร์ ตามที่คณะกรรมการประจำคณะกำหนด ต่อมา ในปี 2558 มีมติให้เปลี่ยนชื่อหน่วยบริการเป็น "หน่วยบริการนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ (Science innovation facility)" โดยแต่งตั้ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นภา ตั้งเตรียมจิตมั่น เป็นประธานหน่วยบริการนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ หลังจากนั้นได้จัดทำโครงการบริการวิชาการเพื่อรับวิเคราะห์ทดสอบตัวอย่างให้กับบุคคลภายในและภายนอก รวมถึงการให้บริการเครื่องมือวิทยาศาสตร์ขั้นสูงให้กับนักวิจัย อาจารย์ นิสิตปริญญาตรี โท และเอก

       1. มีเครื่องมือวิทยาศาสตร์ขั้นสูงและซอฟท์แวร์เพื่อการวิจัยของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ที่เพียงพอและทันสมัย ให้บริการสาหรับการเรียนการสอน และการวิจัย ที่สะดวก รวดเร็วและมีระบบ
       2. ลดค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อ การดูแล และการรักษา เครื่องมือวิทยาศาสตร์ขั้นสูง
       3. เป็นศูนย์กลางในการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเรียนการสอน และการวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคม ในภูมิภาคตะวันออก และประเทศ
       4. สร้างเครือข่ายความร่วมมือทางด้านวิชาการและการวิจัย กับหน่วยงานภายในและภายนอกมากขึ้น

       1. มุ่งเน้นการให้บริการการเรียนการสอนรายวิชาปฏิบัติการ และการใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์ด้วยตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ
       2. สร้างเครือข่ายความร่วมมือ และสนับสนุนงานวิจัย นวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ และการบริการวิชาการหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย
       3. พัฒนาระบบการบริการวิชาการของคณะวิทยาศาสตร์ให้มีประสิทธิภาพ และเป็นต้นแบบระบบความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์

       1. การบริการใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์ด้วยตนเอง ให้เฉพาะนิสิตและบุคลากรภายในคณะวิทยาศาสตร์
       2. งานบริการวิชาการบริการวิเคราะห์และทดสอบตัวอย่าง บริการทั้งหน่วยงานภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยบูรพา

Science Innovation Facility, Faculty of Science, Burapha University