วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหาร

ข้อมูลทั่วไป

 

"สร้างและพัฒนามหาบัณฑิตให้มีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการสร้างและประยุกต์ความรู้ใหม่ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหารเพื่อการพัฒนางานและสังคม โดยสามารถบูรณาการกับศาสตร์อื่นได้ สามารถสืบค้น ติดตามความก้าวหน้าทางวิชาการด้วยตัวเอง คิดวิเคราะห์อย่างสร้างสรรค์ ดำเนินการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาหรือร่วมสร้างนวัตกรรม โดยสามารถประยุกต์กับกระบวนงานทางธุรกิจได้"
 

           อุตสาหกรรมอาหารเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้ให้แก่ประเทศ โดยเป็นอุตสาหกรรมที่เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของผลิตผลทางการเกษตรซึ่งเป็นฐานหลักของการพัฒนาประเทศ และกระจายรายได้สู่ภาคเกษตรกรรมและภาคแรงงานซึ่งครอบคลุมประชาคมจำนวนมาก รวมทั้งต้องตอบสนองความต้องการอาหารที่ปลอดภัยและหลากหลาย ทั้งสำหรับผู้บริโภคภายในและภายนอกประเทศ ด้วยเหตุนี้ จึงมีความจำเป็นในการผลิตบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหารในระดับสูงที่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ และสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) ที่ต้องมีการเตรียมความพร้อมของทรัพยากรบุคคลให้สามารถปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

รายละเอียดหลักสูตร

 วัตถุประสงค์ของหลักสูตร 

     เมื่อสิ้นสุดการเรียนการสอนตามหลักสูตรนี้ มหาบัณฑิตจะมีสมรรถนะ ดังนี้

  1. มีคุณธรรม จริยธรรม โดยปฏิบัติตามหลักจรรยาบรรณแห่งการประกอบวิชาชีพ แสดงความกล้าหาญทางจริยธรรม สามารถวินิจฉัยและจัดการปัญหาที่เกี่ยวข้องกับด้านคุณธรรมจริยธรรมได้
  2. มีความรู้ ความเข้าใจในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหารโดยสามารถอธิบายปรากฏการณ์หรือความรู้ใหม่โดยใช้หลักการและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องได้อย่างลึกซึ้งรวมทั้งสามารถอธิบายแนวคิดเกี่ยวกับการจัดการด้านอุตสาหกรรมอาหารและการจัดการเชิงธุรกิจได้ มีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการสร้างและประยุกต์ความรู้ใหม่ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อาหาร ตลอดจนผลกระทบของผลงานวิจัยที่มีต่อองค์ความรู้ในสาขาวิชาและต่อการปฏิบัติงานตามวิชาชีพ
  3. สามารถคิดวิเคราะห์เชิงวิพากษ์ ประเมินวิธีและแก้ปัญหาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อาหารได้อย่างสร้างสรรค์ รวมทั้งทำวิจัยเพื่อแก้ปัญหาหรือร่วมสร้างนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหารที่ประยุกต์กับกระบวนงานทางธุรกิจได้
  4. มีความรับผิดชอบ สามารถทำงานร่วมกับผู้ที่มีความหลากหลายทางความคิดได้ โดยมีทัศนคติเชิงบวกในการทำงาน
  5. สามารถคัดกรองข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติเพื่ออภิปรายและสรุปได้ สามารถสื่อสารได้ด้วยภาษาไทยและภาษาอังกฤษกับบุคคลที่เกี่ยวข้องทุกระดับ รวมทั้งนำเสนอผลงานทางวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหารได้


 จำนวนหน่วยกิตที่เรียนตลอดหลักสูตร 

  • แผน ก แบบ ก 1                      36 หน่วยกิต
  • แผน ก แบบ ก 2    ไม่น้อยกว่า  36 หน่วยกิต

 

 รูปแบบของหลักสูตร 

  • รูปแบบ:  หลักสูตรปริญญาโท     
  • ภาษาที่ใช้: หลักสูตรจัดการศึกษาเป็นภาษาไทย
  • การรับเข้าศึกษา: รับทั้งนิสิตไทยและนิสิตต่างชาติที่ใช้ภาษาอังกฤษหรือภาษาไทยได้ดี
  • ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอื่น (ภาครัฐ ภาคเอกชน หรือชุมชน): เป็นหลักสูตรของสถาบันโดยเฉพาะ
  • การให้ปริญญาแก่ผู้สำเร็จการศึกษา: ให้ปริญญาเพียงสาขาวิชาเดียว

 

 ระบบการจัดการศึกษา  

  • ระบบทวิภาคระบบทวิภาค โดย 1 ปีการศึกษาแบ่งออกเป็น 2 ภาคการศึกษาปกติ และ 1 ภาคการศึกษาปกติมีระยะเวลาการศึกษา ไม่น้อยกว่า 15 สัปดาห์
  • ไม่มีภาคฤดูร้อน

แนวทางการประกอบอาชีพ

  • สามารถประกอบอาชีพนักวิจัย นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญ ในภาคอุตสาหกรรมอาหารและหน่วยงานราชการ/ รัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหาร
  • สามารถประกอบธุรกิจ รวมถึงศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น
ชื่อปริญญา
วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหาร)